ตัวแทนจำหน่ายและอู่ติดตั้ง
สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 3
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 27
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 2,755,474
 เปิดเว็บ 11/03/2554
 ปรับปรุงเว็บ 02/03/2567

  ข่าวในประเทศ
แก้วิกฤติจราจร เน้น 'เทคโนโลยี' เป็นตัวช่วย
[8 ตุลาคม 2555 09:36 น.]จำนวนผู้เข้าชม 4517 คน



เพิ่งรับตำแหน่งใหม่หมาด ๆ สำหรับ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) มาดูกันว่า ผบก.จร.หมาด ๆ มีแนวทางการทำงานแก้ปัญหาจราจร ที่เป็นปัญหาหนักหนาสาหัสตลอดกาลของเมืองหลวงอย่างไร

หนักใจหรือไม่กับงานแก้ปัญหาจราจร

ไม่หนักใจ จะพยายามทำงานแก้ปัญหาการจราจรกรุงเทพฯ ให้ดีที่สุด บก.จร.ไม่ได้ทำงานนี้เพียงลำพัง ต้องทำงานประสานกับหน่วยงานอื่น ระหว่างนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจราจร ทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) มาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการจราจร ก่อนลงพื้นที่ไปปฏิบัติงาน

คิดว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

ปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.คน ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า 2.พื้นทาง หรือถนน มีความพร้อมในการสัญจรหรือไม่ ชำรุด หรือมีสภาพปัญหาอย่างไร 3.รถยนต์ ทั้งในเรื่องปริมาณรถยนต์ สภาพรถยนต์มีความพร้อมใช้งานหรือไม่ มีอายุการใช้งานนานหรือไม่ และ 4.สภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแปรที่ควบคุมยาก ทั้งฝนตก น้ำท่วม แต่เราสามารถควบคุมผลที่เกิดจากตัวแปรเหล่านี้ได้ ต้องหาวิธีการที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง ซึ่งต้องนำเอาการบริหารจัดการมาช่วย และใช้เทคโนโลยีช่วยการทำงาน

จะใช้เทคโนโลยีอะไรช่วยงานจราจร

บก.จร.มีศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) ซึ่งศูนย์ที่มีการรวบรวมข้อมูลการจราจรไว้ แต่ยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ตนจะพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรื่องแรกต้องพัฒนาข้อมูลดิบที่มีอยู่ ให้เป็นข้อมูลข่าวสารที่สามารถแจ้งข่าวไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมายังไม่เคยทำตรงนี้ ซึ่งตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่เริ่มทำแล้ว เรื่องที่สองต้องรู้จักส่งข้อมูลข่าวสารไปยัง สน.ต่าง ๆ
และในหน่วยของจราจรเอง ในเรื่องการทำงาน แจ้งจุดที่มีปัญหา การเข้าถึงที่เกิดเหตุ การเข้าแก้ปัญหา เรื่องที่สามคือการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ บก.จร.จะต้องช่วยประสานการทำงานระหว่างท้องที่ต่าง ๆ ให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเรื่องที่สี่ คือการสื่อสาร ที่ต้องเอาข้อมูลสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ ให้เกิดความเข้าใจ และรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น

ส่วนการกวดขันวินัยจราจร ยังต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยงานให้มากขึ้น แต่เดิมมีใช้กล้องตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร หรือเรดไลท์คาเมร่า กล้องจับความเร็ว หรือสปีดคาเมร่า ต่อไปตนจะมีโครงการติดตั้งกล้องจับผู้ขับขี่ที่ชอบปาด เบียด แทรกคอสะพาน และทางร่วมทางแยกอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการจราจรเป็นอย่างมาก เช่น ที่ถนนลาดพร้าวขาออก หน้าเดอะมอลล์บางกะปิ เกิดกรณีดังกล่าวทำให้ถนนลาดพร้าวมีรถติดยาวกว่า 7 กม. สำหรับกล้องดังกล่าวจะมีหลักการทำงานเดียวกับเรดไลท์คาเมร่า คือจะมีเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว หากมีรถปาด เบียดบริเวณเส้นทึบจะจับภาพทันที ก่อนส่งหมายเรียกเก็บค่าปรับถึงบ้าน ขณะนี้กำลังเริ่มเขียนโครงการ จะเริ่มนำร่องก่อน 10 จุด ซึ่งกำลังลงพื้นที่สำรวจว่าจุดใดเป็นปัญหามากจะเริ่มติดก่อน ในแต่ละจุดจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านบาท เมื่อติดตั้งแล้วจะประเมินผล 6 เดือน หากมีผลตอบรับที่ดี จะขยายโครงการเพิ่ม ทั้งนี้ต้องการลดการกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจกับผู้ขับขี่ ซึ่งในบางครั้งตำรวจไปยืนจับกุมผู้ทำความผิดลักษณะดังกล่าวอยู่ เมื่อประชาชนเห็นว่ารถติดและมีตำรวจยืนอยู่ ก็หาว่าตำรวจมายืนโบกจับรถทำให้รถติด ทั้งที่เกิดจากการปาดเส้นทึบ ไม่เคารพกฎจราจร จึงเห็นว่าการใช้กล้องจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และไม่ต้องเสียเวลาเขียนใบสั่ง ทั้งยังทำให้ประชาชนเคารพกฎจราจรมากกว่า

จะขยายงานโครงการเรดไลท์เพิ่มหรือไม่

ระยะแรกคงยังไม่เพิ่มจำนวนทางแยกที่จะติดตั้งเพิ่ม เพราะต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมและปรับปรุงของเก่าที่มีอยู่ 30 ทางแยก ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน เนื่องจากใช้งานมานานทำให้อุปกรณ์บางส่วนเสื่อมสภาพไปแล้ว หลังจากนั้นจึงจะของบประมาณติดตั้งเพิ่มเติม

คาดหวังว่าจะแก้ปัญหาจราจรได้ดีขึ้นแค่ไหน

หวังว่าจะแก้ปัญหาการจราจรให้ดีขึ้นได้ โดยจะสร้างระบบการกวดขันวินัยจราจรขึ้นมาใหม่ จะใช้เทคโนโลยีช่วยทำงานมากขึ้น ลดการกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจกับประชาชน แต่ได้ผลตอบรับที่ดีกว่า คือให้ระบบคุมคน

คิดว่างานแก้ปัญหาการจราจรกรุงเทพฯยากหรือไม่

คิดว่าไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวินัยการจราจร ที่ต้องเร่งปลูกฝัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะแก้ปัญหาการจราจรได้ดีในระยะสั้น จะมีการอบรมวินัยจราจรผู้ขับขี่รถสาธารณะทุกประเภท ทั้งแท็กซี่ รถเมล์ ขสมก. ระยะกลางจะจัดอบรมลูกเสือจราจร ส่วนระยะยาวต้องอบรมวินัยจราจรในเด็ก เพื่อปลูกฝังให้ซึมซับตั้งแต่ยังเล็ก

จะส่งเสริมการใช้รถสาธารณะด้วยการให้มีบัสเลนหรือเลนสำหรับรถบีอาร์ทีเพิ่มขึ้นหรือไม่

ต้องยอมรับว่าถนนในกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบันนี้ มีลักษณะทางกายภาพที่จะทำบัสเลน หรือจัดเป็นช่องทางรถบีอาร์ทีได้ยาก เพราะไม่ได้ออกแบบไว้ให้ใช้งานแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น หากปิดกั้นให้เป็นช่องทางรถเมล์โดยห้ามรถอื่นเข้าใช้ จะส่งผลกระทบต่อการจราจรอย่างมาก ตนคิดว่าไม่เหมาะสม แต่หากจะนำโครงการดังกล่าวมาใช้จริง ๆ ควรเริ่มใช้กับถนนเส้นใหม่ ที่มีการออกแบบรองรับไว้

ขณะนี้กำลังพลตำรวจจราจรมีมากน้อยเพียงใด
 
กำลังพลตำรวจจราจรยังมีเท่าเดิม คือ ประมาณ 3,000 คน แต่ขณะนี้มีกำลังตำรวจจราจรทำงานในหน้าที่แค่ 1,000 กว่าคนเท่านั้น น้อยกว่ากำลังพลจริงกว่าครึ่ง ทำให้ตำรวจจราจรทำงานค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีสถานการณ์เร่งด่วนที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ทำให้ต้องทำงานหนักกว่าเดิมมาก เหตุที่มีเจ้าหน้าที่ทำงานน้อย เพราะต้องเกลี่ยตำรวจไปทำงานในหน้าที่ที่มีความสำคัญอื่น ๆ ด้วย ซึ่งตำรวจจราจรได้ริเริ่มโครงการที่จะดึงภาคประชาชนมาช่วยงาน อาทิ โครงการอาสาจราจรตาเหยี่ยว ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รับผิดชอบงานจราจร ที่ได้รวบรวมอาสาสมัครมาช่วยงานตำรวจจราจร ในการถ่ายภาพผู้กระทำผิดกฎจราจร ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีของประชาชนมาช่วยงานจราจร โดยโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ www.thaitrafficpolice.com โดย บก.02 จะนำข้อมูลที่ได้จากอาสาจราจรตาเหยี่ยวมาสังเคราะห์ พิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งแจ้งไปยังผู้กระทำความผิดให้มาเสียค่าปรับ ช่วยให้การทำงานเรื่องกวดขันวินัยจราจรของตำรวจจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับนวัตนกรรมและเทคโนโลยี ตัวช่วยตำรวจจราจร ให้จัดการกับพวกทำผิดกฎ ลดปัญหาจราจรให้น้อยลง.

ข่าวในประเทศ
- ราคาผักสดในตลาดตรังพุ่งรับเทศกาลกินเจ [8 ตุลาคม 2555 09:36 น.]
- แก้วิกฤติจราจร เน้น 'เทคโนโลยี' เป็นตัวช่วย [8 ตุลาคม 2555 09:36 น.]
- จัดทำบุญวันเกิดหลวงพ่อคูณ 89 ปี แจกพระรุ่น 'ดีจริงจริง' [8 ตุลาคม 2555 09:36 น.]
ดูทั้งหมด

ความคิดเห็นที่ 1
:hh:
ชื่อ : นวลอนงค์   E-mail : n.k.rattana@gmail.com    วันที่ : 4 มกราคม 2556 16:12 น.
IP : 115.67.7.XXX

ข้อควรปฎิบัติในการแสดงความคิดเห็น

  • ไม่โพสคำหยาบ

  • ไม่พาดพิงผู้อื่นในทางเสียหาย

  • ไม่พาดพิงถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของชาวไทย

หากตรวจพบจะทำการลบข้อความนั้นๆ ทิ้งทันที

  แสดงความคิดเห็น

ตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ ตัวขีดกลาง ชิดซ้าย กึ่งกลาง ชิดขวา รูปภาพ ลิ้งก์ ขนาดต้วอักษร สีต้วอักษร

ชื่อ: *
E-mail : *
ไม่ต้องการแสดง Email
รหัสตรวจสอบ : Security Image
* กรุณากรอกรหัสที่อยู่ในรูป

Engine by MAKEWEBEASY