ตัวแทนจำหน่ายและอู่ติดตั้ง
สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 3
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 381
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 2,757,413
 เปิดเว็บ 11/03/2554
 ปรับปรุงเว็บ 02/03/2567

  ข่าววิทยาการ-ไอที
แอปเปิล-ซัมซุง สงครามที่เพิ่งเริ่มต้น
[25 กันยายน 2555 09:29 น.]จำนวนผู้เข้าชม 5084 คน



ในปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน เป็นที่นิยมของผู้คนโดยทั่วไปจากการที่มีความสามารถในการทำงานได้หลากหลาย นอกจากการใช้งานด้านเสียง (Voice) ที่กลายเป็นสิ่งพื้นฐานไปแล้ว ยังสามารถรับส่งข้อมูล (Data) ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวหรือเพลงจำนวนมากอีกด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟน รายใหญ่ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในขณะนี้ก็คือยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเกาหลีใต้ที่ชื่อว่าซัมซุง (Samsung) กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รายใหญ่สัญชาติอเมริกันที่ชื่อว่า แอปเปิล (Apple) นั่นเอง
   
ที่ว่าเป็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือด คงจะมิได้เป็นสิ่งที่เกินเลยความจริง เพราะนอกจากจะแข่งขันกันในด้านรูปแบบและยอดขายแล้ว ทั้งแอปเปิลและซัมซุงต่างก็มีข้อพิพาทเป็นคดีความกันในศาลของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาลแห่งกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ศาลแขวงกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายต่างฟ้องว่าอีกฝ่ายหนึ่งละเมิดสิทธิบัตรทั้งด้านการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง และส่งผลกระทบต่อยอดขาย
   
ในสหรัฐอเมริกา ศาลมลรัฐแคลิฟอร์ เนียตัดสินว่าซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรในระบบการย้อนกลับไปดูข้อมูลตอนต้น (Bounce-back) ของแอปเปิลในอุปกรณ์ทุกรุ่น และละเมิดสิทธิบัตรระบบสัมผัสจอภาพแบบ Multi-touch และระบบการขยาย (Pinch-to-Zoom ) ในโทรศัพท์ซัมซุงรุ่น Ace, Intercept และ Replenish และยังระบุว่าซัมซุงละเมิดกฎหมายผูกขาดทางการค้า (Antitrust Law) เรื่องมาตรฐานเครือข่าย UMTS การละเมิดสิทธิบัตรของซัมซุงยังส่งผลกระทบต่อยอดขาย ไอโฟน ของแอปเปิล โดยศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนียพิพากษาให้ซัมซุงจ่ายค่าเสียหายให้แอปเปิลประมาณ 1,051 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40% ของค่าเสียหายที่แอปเปิลเรียกร้องในตอนแรก (ประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จนภายหลังคำตัดสินของศาลในสหรัฐอเมริกา ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ซัมซุงยอมจ่ายค่าเสียหายที่ศาลกำหนด โดยจ่ายเงินค่าเสียหาย 1,051 ล้านดอลลาร์เป็นเหรียญ 5 เซนต์ ใส่รถบรรทุกขนาดใหญ่กว่า 30 คัน มาชำระให้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทแอปเปิลในรัฐแคลิฟอร์เนีย
   
แม้ซัมซุงจะแพ้คดีในสหรัฐอเมริกา แต่ในญี่ปุ่นผลคำตัดสินของศาลกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ศาลประเทศญี่ปุ่นพิพากษายกฟ้องแอปเปิลที่เป็นโจทก์ฟ้องว่า ซัมซุงละเมิดสิทธิบัตร และขโมยเทคโนโลยีส่งผ่านไฟล์เพลงและวิดีโอระหว่างอุปกรณ์ รวมถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยศาลเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของซัมซุงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล และนอกจากยกฟ้องแอปเปิลแล้ว ยังตัดสินให้แอปเปิลจ่ายค่าธรรมเนียมศาลให้ซัมซุงอีกด้วย ส่วนในเกาหลีใต้ศาลพิพากษาว่าทั้งแอปเปิลและซัมซุงต่างฝ่ายต่างละเมิดสิทธิบัตรในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยศาลพิพากษาให้แอปเปิลใช้ค่าเสียหายให้ซัมซุง 40 ล้านวอน หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท ขณะที่ซัมซุงต้องใช้ค่าเสียหายให้แอปเปิลเป็นเงิน 25 ล้านวอน หรือประมาณ 750,000 บาท
   
จากกรณีพิพาทระหว่างแอปเปิลและซัมซุง มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่มองเห็นได้คือทั้งแอปเปิลและซัมซุงมักจะเป็นฝ่ายชนะคดีในประเทศที่ตนเองมีฐานการผลิต ซึ่งทำให้มองได้ว่าการตัดสินของศาลประเทศใดก็มีแนวโน้มที่จะให้ความคุ้มครองในสิทธิและผลประโยชน์แก่คนชาติเดียวกันกับตนเอง ทำให้เห็นได้ว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในต่างประเทศ เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินข้อพิพาทที่มีผลประโยชน์ของชาติตนเองเป็นเดิมพันแล้ว ศาลก็มิได้ใช้เพียงหลักการทางนิติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปเท่านั้น แต่ในคำพิพากษายังแฝงไปด้วยมุมมองหรือทัศนะในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของผู้ที่เป็นผู้พิพากษาอยู่ด้วย อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่าถูกหรือผิด สิ่งที่อาจเป็นไปได้ในวันข้างหน้าก็คือ หากข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่เกิดมีกรณีที่มากขึ้นหรือขยายตัวออกไป อาจมีความจำเป็นที่ต้องมีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Intellectual Property Court) เพื่อที่จะได้เป็นศาลกลางในการวินิจฉัยข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคู่กรณีเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต่อไปก็เป็นได้
   
หันมามองในประเทศไทยก็ถือว่ายังคงโชคดีที่ทั้งแอปเปิลและซัมซุงยังไม่มีข้อพิพาทขึ้นในประเทศไทย สาเหตุอาจเป็นเพราะตลาดสมาร์ทโฟนของไทยแม้จะมีการขยายอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง แต่ก็ยังเป็นตลาดที่เล็กเมื่อเทียบกับอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้คนไทยยังสามารถเลือกหรือตัดสินใจได้ว่าจะใช้สินค้ายี่ห้อใดโดยไม่ถูกจำกัดให้ใช้ได้บางยี่ห้อเหมือนในบางประเทศที่มีคำสั่งศาลห้ามขายสินค้าของฝ่ายที่แพ้คดีเท่านั้น สงครามครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นเราคงต้องรอดูตอนจบกันต่อไป.

ข่าววิทยาการ-ไอที
- ญี่ปุ่นล้ำสร้างโรบอตตลก [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- ผลสำรวจ 5 กิจกรรมยอดฮิตในสมาร์ทโฟนของวัยรุ่นไทย [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- คนดังตบเท้าร่วมงานเปิดตัว YouTube ไทยอย่างเป็นทางการ [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- จีนเอามั่ง ส่งกล้อง ANTVR Kit มาแข่งกับ Oculus ของเฟสบุ๊ค [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- TechnoMart InnoMart 2012 25-28 ตุลาคม 55 ณ ไบเทคบางนา [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- “คอมมาร์ต คอมเทค 2012” กระหึ่มโค้งสุดท้ายปลายปี [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- iPad Mini กับการอุดช่องว่างทางการตลาดของแอปเปิล [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- พบ"ดาวเคราะห์"ดวงใหม่ มี 4 ดวงอาทิตย์ [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- ยักษ์เสิร์ชเอนจิ้นจีน Baidu บุกเมืองไทย เปิดตัว "PC Faster 2.0" [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
- 'โนเกีย' จับสมาร์ทโฟนราคาเบา ส่งอาช่า 2 รุ่นใหม่ เจาะตลาดล่าง [25 กันยายน 2555 09:29 น.]
ดูทั้งหมด

ข้อควรปฎิบัติในการแสดงความคิดเห็น

  • ไม่โพสคำหยาบ

  • ไม่พาดพิงผู้อื่นในทางเสียหาย

  • ไม่พาดพิงถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของชาวไทย

หากตรวจพบจะทำการลบข้อความนั้นๆ ทิ้งทันที

  แสดงความคิดเห็น

ตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ ตัวขีดกลาง ชิดซ้าย กึ่งกลาง ชิดขวา รูปภาพ ลิ้งก์ ขนาดต้วอักษร สีต้วอักษร

ชื่อ: *
E-mail : *
ไม่ต้องการแสดง Email
รหัสตรวจสอบ : Security Image
* กรุณากรอกรหัสที่อยู่ในรูป

Engine by MAKEWEBEASY