ตัวแทนจำหน่ายและอู่ติดตั้ง
สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 3
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 398
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 2,757,430
 เปิดเว็บ 11/03/2554
 ปรับปรุงเว็บ 02/03/2567

  ข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรับอานิสงส์จีนพิพาทญี่ปุ่นท่องเที่ยว-ลงทุน-ส่งออกส้มหล่น
[24 กันยายน 2555 13:15 น.]จำนวนผู้เข้าชม 4566 คน



บานปลาย! ไปกันใหญ่กับปัญหาความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง “แดนมังกร” กับ “แดนปลาดิบ” หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศซื้อเกาะเซนกากุหรือที่จีนเรียกว่า “เกาะเตียวหยู” เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะไม่ใช่แค่เรื่องที่ตั้งของเกาะเตียวหยู ที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นกำลังแย่งชิงกันเท่านั้น แต่เรื่องนี้ได้ลุกลามเป็นไฟลามทุ่งจนทำให้เกิดความเดือดร้อนกันถ้วนหน้ากันไปแล้ว เพราะดันไปเกี่ยวพันกับเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” และ “อำนาจอธิปไตย” ของประเทศ
   
ที่สำคัญความบาดหมางครั้งนี้ได้กลายเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกมองตรงกันว่า จะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเองเพราะทั้งญี่ปุ่นและจีนเองต่างอยู่ในภาวะซบเซาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดด้วย
   
อย่างไรก็ดีแม้หลายฝ่ายมองว่าความบาด หมางครั้งนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกันเป็น ’ลูกโซ่“ แต่ในช่วงระยะสั้น ๆ ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่าผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ใครหลายคนได้รับผลดีไปด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองได้มากที่สุดเพื่อหยิบชิ้น ’ปลามัน“
   
เพราะจากความบาดหมางที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้ส่งผลต่อบรรยากาศท่องเที่ยวของคนทั้ง 2 ประเทศทันที ต่างคนต่างยกเลิกแผนที่จะไปท่องเที่ยวระหว่างกัน แถมเบนเข็มหันมาเที่ยวไทยแทน เพราะบริษัททัวร์จีนได้ติดต่อเข้ามาแล้วว่าต้องการเปลี่ยนทิศจากการไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นไทยแทน แม้ว่าในแต่ละปีนักท่องเที่ยวทั้งจากแดนมังกรและแดนปลาดิบ เดินทางมาเที่ยวไทยมากกว่า 1 ล้านคนก็ตาม
   
แม้เป็นเรื่องดีของไทย แต่การทำทัวร์ดึงคนทั้ง 2 ประเทศนี้เข้ามา ต้องอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวังด้วยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ไทยที่ทำตัวเป็น “ตาอยู่” ที่ฉวยโอกาสจากความพิพาท ขณะที่เอกชนเองอาจอาศัยจังหวะนี้ในการทำตลาดทั้ง 2 ตลาดให้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น เพราะธรรมชาติของคนทั้ง 2 ประเทศ นิยมมาเที่ยวไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะการไปแหล่งท่องเที่ยวหาดทราย ชายทะเล และแหล่งชอปปิง
   
ที่สำคัญคือไทยต้องดูแลทั้ง 2 ตลาดนี้ให้ดี ให้บริการที่มีคุณภาพ เพื่อจูงใจให้ทั้ง 2 ตลาด อยากกลับมาเที่ยวไทยซ้ำอีกในอนาคต รวมถึงการวางโปรแกรมนำเที่ยวบนพื้นฐานความระมัดระวัง ไม่พาไปสถานที่ที่ไปจุดเชื้อไฟของคนทั้ง 2 ประเทศให้แรงขึ้น เช่น สถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีกรณีพิพาท หรือตัวมัคคุเทศก์ที่ดูแลคนทั้ง 2 ประเทศนี้ ก็ต้องให้ข้อมูลนำเที่ยวอย่างระมัดระวัง ไม่พูดอะไรเกี่ยวกับกรณีพิพาท เพื่อหลีกเลี่ยงการจุดเชื้อไฟกรณีพิพาทให้แรงขึ้น เป็นต้น  
   
ส่วนภาคการค้าและการส่งออกนั้น ต้องยอมรับว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยมาก โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่าถึง 26,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 11.8% ของการส่งออกทั้งหมด  ส่วนญี่ปุ่นเป็นตลาดอันดับสองมีมูลค่า 23,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 10.7% ซึ่งผลพวงของการพิพาทครั้งนี้ ย่อมมีนัยสำคัญกับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
   
ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านลบ เพราะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นย่อมทำให้การส่งออกและบรรยากาศเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศชะลอตัวลง เพราะจีนได้ส่งออกสินค้าไปขายญี่ปุ่นเป็นอันดับ 4 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน ขณะที่ญี่ปุ่นเองได้พึ่งพาตลาดจีนในการส่งออกมากกว่า เพราะแต่ละปีส่งออกไปจีนมากที่สุด ดังนั้นเมื่อมีปัญหาลัทธิชาตินิยม ย่อมทำให้เกิดการต่อต้านการซื้อและใช้สินค้ากันเองให้น้อยลง จนทำให้ภาคการส่งออกของจีนและญี่ปุ่นชะลอตัว 
   
สัญญาณลักษณะนี้มีผลต่อกำลังสั่งซื้อสินค้า และนำเข้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อาจไม่ใช่ปริมาณสูงนัก เนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นต้องกินต้องใช้ของภาคประชาชนและในอุตสาหกรรม เช่น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนจีนคาดว่ากระทบน้อยกว่าเนื่องจากจีนมีตลาดขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูงกว่ามาก
   
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่มีผลแต่ด้านลบเท่านั้น แต่ด้านดีด้านบวกก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะการแอนตี้ไม่ยอมซื้อสินค้ากันเองระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร อาจเป็นโอกาสให้ทั้งจีน และญี่ปุ่น หันมาสั่งนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สามเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าจากไทย ที่มีผูกพันใกล้ชิด และได้รับการยอมรับมาตรฐานจากทั้ง 2 ประเทศ จึงเป็นโอกาสให้สินค้าไทยส่งออกไปได้เพิ่มขึ้น
   
ดังนั้นเมื่อหักลบกันแล้ว คาดว่าผลกระทบครั้งนี้มีกระทบเชิงบวกต่อไทยมากกว่าเชิงลบ และเป็นโอกาสที่สินค้าไทยสามารถเข้าไปเจาะตลาดได้เพิ่ม ทั้งอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าไปทั้ง 2 ประเทศ เติบโตได้ตามเป้าหมาย ให้ตลาดจีนขยายตัวได้ 12% ขณะที่ญี่ปุ่นโตได้ 4% สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
   
เช่นเดียวกับด้านการลงทุน ที่หลายฝ่ายมองว่าส่งผลดีต่อไทยมาก ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่อยู่ในจีนนับร้อยรายที่ต้องหยุดดำเนินงานชั่วคราว หากทั้งสองประเทศยังไม่สามารถไกล่เกลี่ยความขัดแย้งได้ในระยะยาวกลุ่มนี้อาจหาที่ใหม่ในการตั้งโรงงานใหม่และประเทศอาเซียนคงเป็นเป้าหมายหลักของญี่ปุ่นโดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในไทยที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีกันระหว่างรัฐบาล และภาคเอกชนต่างเป็นมิตรมานาน แน่นอนแม้ว่าปัญหาความขัดแย้งของจีนและญี่ปุ่นไม่ใช่อานิสงส์โดยตรงที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพิ่ม แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ในอนาคตทุนจากญี่ปุ่นไหลเข้ามาอยู่ในไทย เช่น การรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ที่จะมีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน รวมถึงการชอบวัฒนธรรมของคนไทยด้วย
   
ไม่เพียงแค่นักลงทุนญี่ปุ่นเท่านั้น นักลงทุนจีนก็เช่นกันอาจย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย แทนที่จะเลือกไปลงทุนที่ญี่ปุ่นและล่าสุด ’เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ออโตโมบิล“ เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถเก๋งภายใต้แบรนด์ ’เอ็มจี“ โดยใช้เงินลงทุนราว 15,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน ทั้งขนาดเครื่องยนต์ 1,300 ซีซี, 1,500 ซีซีและ 1,800 ซีซี และเน้นส่งออกไปยังเออีซี ซึ่งตามหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทย-จีน ในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดการณ์กันว่าจะมีมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักธุรกิจจีนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ มูลค่าการลงทุน 5,532 ล้านบาท
   
เมื่อโอกาส... เข้ามาถึงไทยเช่นนี้แล้วคงไม่สามารถปฏิเสธกันได้ว่า ทั้งหลายทั้งปวงคงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของทั้งภาครัฐและเอกชนว่าจะเอื้อมหยิบชิ้นปลามันครั้งนี้ได้มากน้อยเพียงใด!!

..........................................

หอการค้าชี้ไม่ได้อานิสงส์

“พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล”  รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยว่า การเกิดกรณีพิพาทของทั้งจีนและญี่ปุ่น ไม่น่าส่งผลอานิสงส์โดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะมองว่าทั้ง 2 ประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาและยุติความบาดหมางครั้งนี้ได้ในระยะสั้น ดังนั้นการต่อต้านหรือแอนตี้การใช้สินค้าของญี่ปุ่นน่าจะเกิดขึ้นไม่นาน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการค้า การส่งออกไทยให้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมั่นใจมากว่าปัญหาทั้งหมดมีข้อยุติได้ และไม่มีการลุกลามไปมากกว่านี้แล้ว
   
แต่หากเกิดปัญหายืดเยื้อ และขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น จนอาจทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย เพราะญี่ปุ่นอาจใช้ไทยเป็นฐานในการขยายการลงทุน และเพิ่มกำลังการผลิตแทน แต่โอกาสคงเกิดขึ้นน้อย แม้กระทั่งการที่ไทยฉวยโอกาสนี้เพื่อส่งออกสินค้า ไปขายทดแทนสินค้าญี่ปุ่นคงทำไม่ง่ายเช่นกัน เพราะการส่งออกสินค้าต้องใช้เวลาวางแผนทำการตลาด รวมถึงการ ออร์เดอร์หลายเดือน ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นเชื่อว่าคงยุติไปแล้ว ที่สำคัญถึงแม้จีนซื้อของญี่ปุ่นลดลง แต่คนจีนอาจหันไปซื้อสินค้าภายในประเทศตัวเองก่อน

ชาติอาเซียรแย่งทุนญี่ปุ่น

“ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นคงไม่จบง่าย ๆ  และที่สำคัญในตอนนี้กระแสการต่อต้านสินค้าจากญี่ปุ่นในจีนก็มีขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงโรงงานญี่ปุ่นหลายแห่งจำเป็นต้องปิดชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย หากเป็นลักษณะนี้แล้วในอนาคตคงต้องมีบางส่วนจำเป็นต้องย้ายออกจากจีนเพื่อไปตั้งโรงงานในอาเซียนแทน ซึ่งตอนนี้หลายประเทศมีมาตรการรองรับทุนจากญี่ปุ่นทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา รวมถึงไทย เป็นต้น
     
ดังนั้นรัฐบาลไทยควรมีมาตรการที่สร้างความชัดเจนมากขึ้นเพื่อรองรับทุนจากญี่ปุ่นที่กำลังจะย้ายจากจีนบางส่วน รวมถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วมให้ดีด้วย เพราะในช่วงนี้หลายพื้นที่ในไทยก็ถูกน้ำท่วมจนนักลงทุนกังวล เพราะปีก่อนนักลงทุนจากญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดและภาพเหล่านั้น ยังหลอกหลอนผู้ประกอบการอยู่ หากปีนี้ท่วมอีกทุกอย่างก็จบและญี่ปุ่นเค้าคงไปประเทศอื่นแทน ดังนั้นไทยจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน โดยเฉพาะความชัดเจนด้านของกฎระเบียบการลงทุน

สทท.มองไทยมีดีอยู่แล้ว

“ปิยะมาน เตชะไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เห็นว่าทั้งจีนและญี่ปุ่น ต่างเป็นพันธมิตรทางด้านการท่องเที่ยวที่ดีของไทย และที่ผ่านมาคนของทั้ง 2 ประเทศนิยมเดินทางมาไทยมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้ง 2 ตลาดนี้น่าจะเดินทางมาไทยมากพอสมควร แม้ไม่มีเหตุกรณีพิพาทเกิดขึ้น โดยเชื่อว่าหากปล่อยให้ 2 ตลาดนี้มาไทยตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปใช้เรื่องกรณีพิพาทในการทำการตลาด ก็น่าจะดึงคนญี่ปุ่นเที่ยวไทยทั้งปีได้มากกว่า 1 ล้านคน และดึงคนจีนเที่ยวไทยได้เกือบ 2 ล้านคน
   
สำหรับสิ่งสำคัญที่ไทยต้องดูแลในช่วงนี้ เพื่อดึงทั้ง 2 ตลาดมาเที่ยว ก็คือ การดูแลสถานการณ์ภายในประเทศเอง ไม่ให้เกิดข่าวน่ากังวล จนทำให้ 2 ตลาดนี้ไม่กล้าเดินทางมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ซ้ำกับปีที่ผ่านมา การดูแลไม่ให้ประท้วงที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แม้ว่าทั้ง นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวจีน จะชะลอตัวไปบ้างช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม แต่เชื่อว่าถ้าดูแลให้ดีใช้ประโยชน์ให้เป็นก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ
 

ข่าวเศรษฐกิจ
- ‘ฮั่วเซ่งเฮง’ แนะคืนนี้จะมีการรายงานการจ้างงานภาคเอกชน ADP ของสหรัฐ [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- เร่งฟื้นท่องเที่ยว ยุติเคอร์ฟิว ภูเก็ต-พัทยา-สมุย [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- ไทยติดอันดับ 18 ของโลกดินแดนเอื้อต่อการลงทุน [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- ลดเก็บภาษีนิติบุคคล ทำไทยติด1ใน20ประเทศ ง่ายต่อการทำธุรกิจ [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- อ่วม!รถไฟจ่อขึ้นราคา [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- บอร์ดสลากฯ ยังไม่อนุมัติดีเดย์ขายหวยออนไลน์ [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- ผู้บริโภคเฮ!5ธ.ค.เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงฟรี 3 เดือน [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- ปรับแอลพีจีวนในอ่างรัชดา กรรมการนัดสุมหัวปรามาสแต่สุดท้ายไร้ข้อสรุป [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- กวักมือเรียก พี่วินมอไซค์ ถือบัตรพลังงานเติมโซฮอล์ 91 ลด 3 บาท [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
- ขรก. ครู 8.63 หมื่นคนยิ้มร่า ไฟเขียวเพิ่มเงินเดือนแรกบรรจุ มีผลย้อนหลัง 1 ม.ค. 2555 [24 กันยายน 2555 13:15 น.]
ดูทั้งหมด

ข้อควรปฎิบัติในการแสดงความคิดเห็น

  • ไม่โพสคำหยาบ

  • ไม่พาดพิงผู้อื่นในทางเสียหาย

  • ไม่พาดพิงถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของชาวไทย

หากตรวจพบจะทำการลบข้อความนั้นๆ ทิ้งทันที

  แสดงความคิดเห็น

ตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ ตัวขีดกลาง ชิดซ้าย กึ่งกลาง ชิดขวา รูปภาพ ลิ้งก์ ขนาดต้วอักษร สีต้วอักษร

ชื่อ: *
E-mail : *
ไม่ต้องการแสดง Email
รหัสตรวจสอบ : Security Image
* กรุณากรอกรหัสที่อยู่ในรูป

Engine by MAKEWEBEASY